เลือกแอร์แบบไหน เหมาะกับห้องยังไงบ้าง ?
เพราะการเลือกแอร์ให้เหมาะกับห้อง ไม่ใช่แค่เรื่องของขนาดแอร์ หรือขนาดของ BTU แต่ยังเกี่ยวกับประเภทของแอร์ ว่าต้องเลือกแอร์แบบไหน? ถึงจะตอบโจทย์การใช้งานและลักษณะห้องที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ อยากเลือกแอร์ให้ดี เราจึงขอเริ่มกันที่ประเภทของแอร์กันก่อน ดังนี้
แอร์ติดผนัง เรามักจะได้เห็นการเลือกแอร์แบบติดผนังในพื้นที่บ้านกันอยู่บ่อยๆ เนื่องจากมีการทำงานแบบหลายฟังก์ชัน ทั้งโหมดประหยัดไฟ กรองฝุ่น หรือในบางยี่ห้อบางรุ่นที่สามารถกรองได้แม้กระทั่งฝุ่น PM2.5 อีกทั้งแอร์ติดผนังส่วนใหญ่จะมีขนาดที่ค่อนข้างกะทัดรัด ออกแบบสวยงาม จึงเหมาะสมกับบ้านและคอนโดอย่างยิ่ง
แอร์แขวนเพดาน เป็นอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยเพราะฟังก์ชันการทำงานที่มีความเหมือนกับแอร์ติดผนัง แต่สามารถกระจายความเย็นได้ทั่วถึงและเร็วกว่า การติดตั้งแอร์แบบแขวนเพดานจึงเหมาะกับห้องขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่เยอะอย่างห้องประชุม หรืออาคารสำนักงาน
แอร์ตั้งพื้น เป็นเครื่องปรับอากาศที่วางอยู่บนพื้นห้อง จุดเด่นของแอร์ตั้งพื้น คือสามารถถอดทำความสะอาดได้ง่าย เหมาะกับห้องที่มีความสูงจากพื้นถึงเพดานแบบพอดี ไม่เหมาะกับห้องกว้างและเพดานสูง เพราะจะทำให้ได้รับความเย็นไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตามเครื่องปรับอากาศแบบตั้งพื้นก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในปัจจุบัน เนื่องจากต้องอาศัยพื้นที่ในการจัดวางนั่นเอง
แอร์ฝังฝ้าเพดาน (Cassette Type Air Conditioner) ข้อดีหลักๆ ของการเลือกแอร์ประเภทนี้ คือช่วยประหยัดพื้นที่ สามารถกระจายความเย็นได้ทั่วถึงทุกทิศทาง บวกกับดีไซน์ที่สวยงามกลมกลืนไปกับห้อง หรือฝ้าเพดาน จึงเหมาะสำหรับห้องขนาดใหญ่ หรือห้องที่มีพื้นที่กว้าง เพดานสูง แน่นอนว่าราคาเครื่องต่อ BTU ก็ค่อนข้างสูง และบำรุงรักษายากตามไปด้วยเช่นกัน
เมื่อเราได้รู้จักกับเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์แต่ละประเภทกันแล้ว ต่อไปเราจะพาไปรู้จักกับการคิดค่า BTU หรือ British Thermal Unit ต่อขนาดพื้นที่ของห้อง เพื่อให้เราได้แอร์ที่เหมาะกับลักษณะห้อง เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานพร้อมช่วยประหยัดพลังงานด้วย
เลือกแอร์แบบไหน เหมาะสมกับห้อง
เช็กขนาด BTU ให้เหมาะกับพื้นที่ห้อง เลือกแบบนี้จะดีไหม ?
BTU (British Thermal Unit) คือ หน่วยที่ใช้วัดความเย็นของแอร์ ยิ่งแอร์ที่มีจำนวน BTU สูง ก็ยิ่งมีความสามารถในการผลิตความเย็นได้มาก และมีประสิทธิภาพในการทำความเย็นในพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้แอร์ใช้พลังงานในการทำความเย็นมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหมายความว่าจะส่งผลต่อตัวเลขค่าไฟรายเดือนที่จะตามมานั่นเอง ดังนั้นการเลือกแอร์ให้เหมาะสมกับห้อง จึงควรเลือกขนาดแอร์ที่มี BTU ที่เหมาะสม โดยควรคำนวณร่วมกับพื้นที่และสภาพอากาศภายในบ้าน ว่ามีแสงแดดส่องเข้าถึงห้องมากน้อยแค่ไหน ดังนี้
สูตรคำนวณค่า BTU :
ค่า BTU = พื้นที่ของห้อง (ขนาดกว้าง x ยาว) x ระดับความแตกต่าง
ระดับความแตกต่าง คือ ระดับความร้อนช่วงเวลากลางวันและกลางคืน
ห้องที่ใช้ตอนกลางวัน มีระดับความต่างประมาณ 800
ห้องที่ใช้เฉพาะเวลากลางคืน มีระดับความต่างประมาณ 700
BTU
ห้องปกติ
ห้องโดนแดด
9,000 BTU
ห้องขนาด 12-15 ตร.ม.
ห้องขนาด 10-14 ตร.ม.
12,000 BTU
ห้องขนาด 16-20 ตร.ม.
ห้องขนาด 14-18 ตร.ม.
18,000 BTU
ห้องขนาด 24-30 ตร.ม.
ห้องขนาด 21-27 ตร.ม.
21,000 BTU
ห้องขนาด 28-35 ตร.ม.
ห้องขนาด 25-32 ตร.ม.
24,000 BTU
ห้องขนาด 32-40 ตร.ม.
ห้องขนาด 28-36 ตร.ม.
25,000 BTU
ห้องขนาด 35-44 ตร.ม.
ห้องขนาด 30-99 ตร.ม.
30,000 BTU
ห้องขนาด 40-50 ตร.ม
ห้องขนาด 35-45 ตร.ม.
สิ่งแรกที่ควรทำก่อนเลือกขนาดแอร์คือ การเช็กขนาดพื้นที่ห้อง เพราะหากห้องมีขนาดเล็กแต่เลือกแอร์ BTU ใหญ่เกินไป นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายตอนซื้อโดยใช่เหตุแล้ว ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งก็จะมีราคาสูงอีกด้วย หรือถ้าเป็นห้องขนาดใหญ่แต่เลือกแอร์ BTU เล็กเกินไป นอกจากทำให้ห้องไม่เย็น เปลืองไฟแล้ว ยังทำให้แอร์ทำงานหนักเพื่อต่อสู้กับอุณหภูมิของอากาศภายนอกจนอาจทำให้แอร์เสื่อมสภาพก่อนเวลาก็เป็นได้
เลือกแอร์แบบไหน เหมาะสมกับห้อง
ส่องทริคยืดอายุแอร์ ช่วยแชร์ความเย็นให้ยาวขึ้น!
แม้เราจะพอทราบดีว่าเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างยาวนาน ทั้งตัวเครื่องปรับอากาศที่มีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10-15 ปี หรือน้ำยาแอร์ที่หากไม่ซึม ไม่รั่วก็ใช้กันไปยาวๆ ราว 5-10 ปี แต่ความยืดยาวที่ว่าก็หดสั้นลงได้ตามกาลเวลาและวิธีดูแลรักษาของเรา ซึ่งนอกจากการทำความสะอาดทุกๆ 6 เดือนแล้ว การติดตามคุณภาพแอร์อย่างต่อเนื่อง ยังเป็นวิธีช่วยให้แอร์เย็นฉ่ำและพร้อมใช้งานกันไปยาวๆ ได้อีกด้วย
เลือกมุมเหมาะในการติดตั้ง
ติดตั้งแอร์ในทิศทางที่สามารถกระจายความเย็นได้ทั่วทั้งห้อง เพื่อช่วยให้แอร์ส่งความเย็นไปได้ทั่วทั้งห้อง โดยเฉพาะในโซนพื้นที่ห้องนอนที่ควรติดตั้งแอร์ในทิศทางตั้งฉากกับเตียง ให้ทิศทางลมพัดขวางกับลำตัว นอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะความเย็นจากแอร์โดยตรงแล้ว ยังช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ร่วมด้วยได้
หลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์เหนือประตูห้อง เพราะจะทำให้ความเย็นของแอร์กระจายออกจากห้องได้ง่าย รวมถึงการติดตั้งใกล้ๆ พื้นที่รับแดด เพราะจะส่งผลให้อุณหภูมิห้องไม่คงที่และเย็นช้า จนทำให้แอร์ต้องทำงานหนักไปในที่สุด
ดูแลรักษาคุณภาพแอร์
สังเกตเครื่องแอร์เวลาทำงาน เช่น มีน้ำหยดเวลาใช้งานหรือไม่ หรือมีเสียงระหว่างทำงานดังเกินปกติ เย็นช้า หรือความฉ่ำของการผลิตความเย็นที่ต่ำลง หากเครื่องปรับอากาศที่บ้านคุณมีอาการผิดปกติควรเริ่มต้นเช็กตั้งแต่เนิ่นๆ
เพื่อให้การลงทุนกับเครื่องปรับอากาศได้รับประโยชน์และเกิดความคุ้มค่าที่สุด เราจึงควรเปรียบเทียบขนาดของห้องและเลือกแอร์ขนาด BTU ที่เหมาะสม และอย่าลืมดูฉลากระบุว่าประหยัดไฟเบอร์ 5 ด้วยนะคะ รวมไปถึงฉลาดจัดบ้านในหน้าร้อน เพื่อที่ร้อนนี้ที่คุณต้องทำงานอยู่บ้านจะได้เย็นสบาย แถมสบายใจเรื่องค่าไฟฟ้าอีกด้วย
ติดตามเรื่องราวดีๆ อื่นๆ ได้ที่ https://www.lh.co.th/th/lh-living-concept/living